Tuesday, 14 May 2024
ฝุ่นPM

เกษตรกรชาวไร่ จ.สระแก้ว ยังคงเผาอ้อยทุกวัน ส่วนเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิต จูงใจให้ลดการเผา ลด PM2.5 ยังไม่ได้ข้อยุติ

วันที่ 6 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำของทุกวัน ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังโรงงานหีบอ้อยเริ่มเปิดรับผลผลิตจากชาวไร่ ประจำปี 2565/66 จังหวัดสระแก้ว ซึ่งจังหวัดสระแก้ว จัดได้ว่า มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ยังคงพบมีเผาอ้อย เพื่อสะดวกในการตัดอ้อยเข้าโรงงานของแรงงานชาวกัมพูชา ต่างจากการตัดอ้อยสด ที่ต้องใช้เวลาสางใบออกก่อน ทำให้ได้ปริมาณที่น้อยลง แรงงานชาวกัมพูชาจึงนิยมตัดอ้อยไฟไหม้มากกว่าอ้อยสด

ส่วนเจ้าของไร่อ้อยที่มีความพร้อมด้านเครื่องจักร ส่วนหนึ่งก็เริ่มหันไปใช้รถตัดอ้อยที่มีราคาสูง ปัจจุบันมีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนพื้นที่ปลูก โดยผู้สื่อข่าวได้ออกตระเวนตรวจสอบพื้นที่ปลูกอ้อยในอำเภอหลัก ๆ ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเย็น, คลองหาด, วังสมบูรณ์ และวัฒนานคร พบว่า มีการจุดไฟเผาไร่อ้อยทุกวันในพื้นที่ปลูกอ้อย ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00-20.00 น. และช่วงเช้าประมาณ 05.00-06.00 น. จนเกิดเป็นกลุ่มไฟสีแดงเป็นจุด ๆ ทั่วบริเวณ เพื่อนำคนงานกัมพูชาเข้าตัดในวันรุ่งขึ้น

ดังนั้น ทุกเช้าฝุ่นละอองและเขม่าจากใบอ้อย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หิมะดำ” จะปลิวไปตกยังบ้านเรือนและพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เต็มบริเวณทุกวัน ขึ้นอยู่กับทิศทางลม สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ไม่ได้ประกอบไปอาชีพนี้อย่างมาก แต่การร้องเรียนทำได้แค่บ่นให้เพื่อนบ้านฟังและโพสต์เฟซบุ๊กระบายความรู้สึกเท่านั้น และการเผายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า จะมีไปจนถึงสิ้นฤดูกาลหีบอ้อย (4 เดือน) แม้ว่าทางจังหวัดสระแก้วจะประกาศห้ามเผา พร้อมกับกำหนดมาตรการเรื่องความปลอดภัยในการขนส่งอ้อย การตัดอ้อยเข้าโรงงาน และอื่น ๆ ไว้ล่วงหน้า ก่อนเปิดหีบอ้อยก็ตาม

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาทั้งประเทศมีการเผาอ้อยประมาณ 27% แต่รัฐบาลกำหนดให้เผาได้ 20% ถือว่าเกินกว่าที่กำหนด ปัญหาคือฝนตกช่วงตัดอ้อย ปัญหาเรื่องแรงงาน ปัญหาเรื่องของโรคโควิดที่เข้ามาระบาดทำให้ปริมาณเกินเป้าหมาย แต่ปีนี้นโยบายรัฐบาลคือ ให้เราลดการเผาเหลืออยู่ 5% แต่ปีนี้เราก็พยายามในส่วนของสมาคมและเกษตรกร

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐบาลที่จะมาเพิ่มให้เกษตรกรเป็นแรงจูงใจ เรื่องปัจจัยการผลิต ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยการผลิต การตัดอ้อยสด อ้อยไฟไหม้ราคาค่อนข้างต่างกัน ก็คือต้นทุนของชาวไร่ แต่ชาวไร่เอง เรายินดีที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล แต่ปีนี้ได้มีการหารือแล้ว ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี แต่ไปติดประเด็นตรงที่ว่า บอร์ดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งตัวแทนโรงงานได้ลาออกไปเมื่อช่วงเดือน ต.ค.65 เพิ่งเสนอชื่อเข้ามา ยังไม่มีการแต่งตั้งและกรรมการอ้อยไฟไหม้ก็จะหารือกันอีกรอบ เพื่อเป็นแนวทางเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบ

'วิชัย ทองแตง' ปั้นภาคีเครือข่าย 'รัฐ-เอกชน'  ดึงกว่า 50 องค์กร ร่วมใจพลิกเชียงใหม่ไร้ฝุ่น PM 2.5

'หยุดเผา เรารับซื้อ' หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 'ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน' ผ่านการร่วมกันคิดและทำให้สำเร็จ ด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร สกัดการเผาทำลายซังข้าวโพด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิด PM 2.5 โดยนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต ด้วยมาตรฐานระดับโลกที่โรงงานต่างๆ ทั่วโลก ที่พร้อมจะรับซื้อต่อไปได้

(12 ก.ค. 66) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนและกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน สำคัญที่สุดในอันที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของพี่น้อง ลูกหลานเราโชคดีเหลือเกินที่เรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏเหมือนที่ใดมาก่อนเหมือนในวันนี้”

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “พวกเราประจักษ์รู้ในความเป็นจริงกันทุกคนว่าแท้จริงแล้ว มันเกิดจากฝีมือมนุษย์เราเอง การเผาป่า เรือกสวน กิ่งไม้ ไร่นา เพื่อพลิกฟื้นผืนดินทำกินของพวกเรากันเอง นั้นเกิดประโยชน์มหึมาแต่ก็เกิดโทษมหาศาล ทางอบจ.เราเองได้จัดงบลงไปปีละหลายสิบล้าน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 บรรเทาทุกข์ให้กับชาวเชียงใหม่ ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ชาวเชียงใหม่จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งถือเป็นการแสดงครั้งสำคัญของพวกเรา” 

ด้าน คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจผู้มีแรงบันดาลใจที่มุ่งหวังให้ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือปลอด PM 2.5 ได้กล่าวว่า “ภาคีเครือข่ายนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชาวเชียงใหม่ พวกเราต้องเป็นแกนนำผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของเชียงใหม่และของประเทศไทย อยู่ที่ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าไปพร้อมกันในวันนี้ และถือเป็นครั้งแรกที่วันนี้ได้มารวมตัวกัน แม้ผมจะเป็นผู้ริเริ่มแต่การผลักดันให้สำเร็จก็อยู่ที่ท่านทุกคน และผลของความสำเร็จก็จะตกอยู่ที่ชาวเชียงใหม่และประเทศชาติของเรา”

ด้าน ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด กล่าวว่า “ผมเล็งเห็นว่าการที่เกิดปัญหา PM 2.5 เยอะขนาดนี้ แสดงว่าชีวมวลก็เยอะเช่นกัน ทีมงานจึงได้ลงสำรวจพื้นที่ในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมแหล่งผลิตชีวมวล ในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่ อ.จอมทอง เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตร พร้อมขยายเพิ่มอีก 3 จุดในภาคเหนือ  โดยนำไปใช้ในอุตสหกรรม เพื่อพลังงานทดแทนสะอาด เป็นชีวมวลอัดเม็ดพร้อมคาดหวังให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายได้กระจายสู่ชุมชน ถือเป็นความพยายามของภาคเอกชนโดย บริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ยินดีให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเชียงใหม่เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ให้ได้อย่างยั่งยืน”

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต กล่าวว่า “ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่ แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

หลังจากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ เราจะร่วมใจกันอย่างไรให้เชียงใหม่หมด PM 2.5 โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ คุณชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ บริษัท แอทเซส เวิล์ด คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต , คุณอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ , ดร.ณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ , คุณชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย ประจำปี 2566 , ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด พร้อมฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่าย นับเป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายที่น่าประทับใจ และพร้อมที่จะพลักดัน หยุดเผา เรารับซื้อ ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นลำดับต่อไป

สนใจนำเศษซาก ตอซังข้าวโพด เข้าร่วมโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ ของบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0934165953


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Eec Time Thailand
Take Me Top