Sunday, 19 May 2024
ประมงระยอง

นายกสภาทนายฯ ตั้งทีมลงพื้นที่ หลังผู้ประกอบอาชีพประมงระยองร้องช่วยทางกฎหมาย เหตุน้ำมันดิบรั่วกระทบระบบนิเวศและรายได้

วันที่ 5 มกราคม 65 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องการประมง จังหวัดระยอง ประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับสภาทนายความ กรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเล บริเวณหุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง รั่วไหลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานการประมงในอ่าวจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศและรายได้จากการประกอบอาชีพ

โดยมี ดร.วิเชียร ซุปไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ, นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ และว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการ สิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ เป็นผู้รับเรื่อง

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย ระบุว่า เหตุการณ์กรณี บริษัทแห่งหนึ่งทำน้ำมันดิบ รั่วไหลลงอ่าวระยอง ระหว่างขนถ่ายกลางทะเล เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา มากกว่า 4 แสนลิตร ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่อง จังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบมีน้ำมันดิบกระจายเป็นวงกว้าง ถูกพัดเข้าถ่ายฝั่ง จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า น้ำมันดิบแพร่ในทะเลกว้างกว่า 9 เท่า ของเกาะเสม็ด ทำให้ชาวบ้าน ชาวประมงได้ผลกระทบ ต่อทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่ทำมาหากิน

ผลของน้ำมันดิบรั่วไหลและการใช้ สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ ทะเลตื้นทำให้สัตว์น้ำหลายประเภทหายไปจากบริเวณอ่าวระยอง ซึ่งปัจจุบันเรือประมง หลายประเภทต้องจอดนิ่งอยู่ท่าเรือ เนื่องจากเรือออกไปไม่มีสัตว์น้ำให้จับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งความขาดแคลนนี้ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่

นอกจากนี้ การประมงพื้นบ้านและเรือขนาดกลางที่หากิน ได้จากจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหล ยังสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจซื้ออาหารทะเล ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและปรุงสำเร็จในจังหวัดระยอง ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้ ที่มาจากพื้นที่ปากน้ำระยองและเครือข่าย ต้องการที่จะยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อการเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน ระหว่างบริษัทก่อมลพิษกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ได้รับค่าเยียวยาที่เป็นธรรม เป็นการเรียกค่าชดเชยตามความเป็นจริงจากการสูญรายได้ที่ควรจะได้

โดยจากการได้รับความเสียหายในครั้งนี้กับทางบริษัทผู้ก่อเหตุยังมีการเยียวยาชดเชยให้ในจำนวนน้อย และระบุจะชดเชยจำกัดแค่เรือประมงที่ละเบียนไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นเป็นธรรมกับผู้ทำประมงพื้นบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบอื่น เกรงว่าจะมีการดึงเรื่องการชดเชยเยียวยาจนหมดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหาย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่ ว่าเมื่อการขนส่งขนถ่ายน้ำมันดิบทางทะเลเกิดการรั่วบ่อยครั้ง เหตุใดทางนิคมอุตสาหกรรม หรือกรมเจ้าท่าไม่หารือเปลี่ยนวิธีการขนส่งน้ำมันเป็นทางบกแทน

ปชช.รวมตัวยื่นฟ้องบริษัท SPRC ต้นเหตุทำน้ำมันรั่วกลางทะเลระยอง หลังจาก 1 ปี ไร้วี่แววความรับผิดชอบ

วันที่ 17 ม.ค. 2566 ที่ศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ 10 บ้านป่าคั่น ตำบลตะพง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มประมงพื้นบ้าน ร้านอาหาร หาบเร่ แผงลอย และอาชีพเกี่ยวเนื่องในจังหวัดระยอง จำนวน 820 คน รวมตัวยื่นเอกสารให้ทนายความ เตรียมฟ้องร้องต่อศาลกรณีบริษัท SPRC ต้นเหตุทำน้ำมันรั่วกลางทะเลระยอง หลังผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล สัตว์น้ำ และระบบนิเวศใต้ท้องทะเล

ซึ่งในการรวมตัวกันดังกล่าว ยังได้มีการนำภาพถ่ายซากสัตว์ทะเลที่ตายจากเหตุน้ำมันรั่วขึ้นกระดาษโชว์ พร้อมกับเรียกร้องในทางบริษัทฯ แสดงความความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังด้วย

นายวีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง กล่าวว่า เหตุน้ำมันรั่วของ บ.SPRC ผ่านมาแล้ว 1 ปี ยังไม่ได้มีการแก้ไขในเรื่องอะไรเลย แม้กระทั่งเรื่องของทรัพยากรทางทะเล อาชีพผู้ได้รับผลกระทบและเกี่ยวเนื่องกับประมงทั้งระบบยังไม่ชัดเจน แม้บริษัทฯ จะมีการเยียวยาเบื้องต้นแต่กลุ่มกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดมองว่ามันไม่เกิดประโยชน์ยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Eec Time Thailand
Take Me Top