Monday, 29 April 2024
EconBiz

เศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่องหลังคลายล็อกโควิด "หอการค้าไทย' คาด ปีใหม่เงินสะพัดแสนล้านบาท!!

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ 47.9 เป็นผลมาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5

ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกมาจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโควิด 19 รวมถึงนโยบายในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผ่อนคลายมากขึ้น โดยมีการปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวมาจากแนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชนที่มากขึ้น การลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 

รัฐบาล อวดภาพรวม นโยบายแก้หนี้ครัวเรือน ยัน เดินหน้าต่อ เพื่อ ศก.ภาพรวม

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการ “ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้” ภายใต้นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ทุกส่วนราชการ สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน ร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างจริงจังนั้น ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2565 เหลือ 88.2%  ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 89.1% และไตรมาส 4 ปี 2564 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90% โดยหนี้ครัวเรือน 4 อันดับแรกยังคงเป็น 1.) เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของหนี้ครัวเรือนรวม 2.) เงินกู้เพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลสัดส่วนร้อยละ 28.0 ของหนี้ครัวเรือนรวม 3.) เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 18.2 ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 4.) เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/ รถจักรยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนรวม

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่

1.) การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จากรายปีเป็นรายเดือน ชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี  ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงตัดดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้น

2.) การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น

3.) การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครู ยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ของครูในอนาคต เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5

4.) หนี้สินข้าราชการตำรวจ การขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 พักชำระหนี้เงินต้น ปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

5.) การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ กระทรวงการคลังปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance เหลือร้อยละ 33 จากร้อยละ 36 ธปท. สนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้

และ 6.) การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เน้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งเป้า 3 ปี ไทยเป็นฮับในอาเซียน ถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบราง

เมื่อไม่นานมานี้ (15 ธ.ค. 65) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ‘ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค’ ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลา เป็นการต่อยอดความร่วมมือการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างสถาบันวิจัยฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1.การสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบราง ที่เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทั้งระดับช่างเทคนิคทักษะสูง และระดับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับสถาบันและหน่วยงานเครือข่าย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2.การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนฝรั่งเศส และภาคเอกชนไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคม โดยไม่เพียงแค่ผลิตได้ แต่คาดหวังให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

และ 3.การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางชั้นแนวหน้าระหว่างกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำของฝรั่งเศส และเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริม และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การถ่ายทอด และการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียนภายใน 2-3 ปีหลังจากนี้

สภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการ 17 บริษัท ศึกษาดูงานต้นแบบการจัดทรัพยากรน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

(22 ธ.ค.65) คุณปิยะ พิริยะโภคานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานสมาชิกสัมพันธ์ (สช.) หน่วยงานจับคู่ธุรกิจ สายงานสมาชิกสัมพันธ์ นำคณะสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการเข้าศึกษาดูงาน บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM.) ณ สถานีผลิตน้ำประปามรกตสยาม ตำบลมาบโป่ง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี สถานีผลิตน้ำประปาด้วยพลังงานทางเลือก และต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับภาคอุตสาหกรรม

โดยมี คุณธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการผู้จัดการ บจก. อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ (IWRM.) ให้การต้อนรับ และนำคณะเยี่ยมชมบ่อน้ำดิบและสถานีผลิตน้ำประปา เพื่ออุตสาหกรรม จากต้นทางน้ำในบ่อดินลูกรัง เพื่อส่งต่อน้ำสู่ผู้ใช้น้ำ ในนิคมอุตสาหกรรม ต่าง ๆ ทั้งใน จ.ชลบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา กว่า18 ปี ที่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่นใจในคุณภาพน้ำตลอด24ชม. ทั้ง 365 วัน สู่ขบวนการผลิต ทุก ๆ นิคมฯที่รับน้ำจาก บ. IWRM.

พร้อมด้วยคุณจิรบูลย์ วิทยสิงห์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมฯสายงาน สช. ร่วมบรรยายและสาธิตเทคโนโลยีการกรองน้ำด้วย Ceramic Membrane จากประเทศเยอรมัน โดยคณะฯ เยี่ยมชมระบบโครงข่ายชลประทานทางท่อ อ่างกักเก็บน้ำ บ่อลูกรังของบริษัท IWRM. ความจุรวมมากกว่า 30 ล้าน ลบ.ม.

เริ่มตึงตัว!! 'วิชัย' เผย ราคาอสังหาฯ พื้นที่ EEC ลดฮวบ! หลังโควิดระบาด ทำ ปชช. มีกำลังซื้อน้อยลง

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากจำนวนหน่วยเสนอขายทั้งหมดในพื้นที่ EEC พบว่าที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดส่วนใหญ่เปิดขายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ขณะที่ระยองและฉะเชิงเทรา เน้นการเปิดขายโครงการใหม่ประเภทบ้านจัดสรรเป็นหลัก

ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าจับตาคือ ที่อยู่อาศัยที่เสนอขายทั้งหมดในตลาดเริ่มลดลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2564 และการเปิดตัวใหม่ในไตรมาส 3 ถือว่าต่ำที่สุด ทั้งก่อนและระหว่างเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า การเปิดตัวโครงการใหม่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่โซนอุตสาหกรรม ขณะที่อัตราการดูดซับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขายได้เพิ่มขึ้นของโครงการแนวราบ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์

จากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยเสนอขายในพื้นที่ 3 จังหวัด ณ ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่ามีจำนวน 54,116 หน่วย ลดลง -9.11% มูลค่ารวม 184,985 บาท ลดลง -9.94% ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นประเภทอาคารชุด 17,998 หน่วย มูลค่า 77,667 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลง -10.16% มูลค่าลดลง -13.45% เป็นประเภทบ้านจัดสรร 36,118 หน่วย มูลค่า 107,318 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลง – 8.57% มูลค่าลดลง  -8.50%

ขยายความเจริญ!! 'ลุงหนู' ไฟเขียว!! ร่างงบฯ ปี 67 แตะ 2.44 แสนล้านบาท ดันเมกะโปรเจ็กต์ หนุนแผนระบบขนส่งคมนาคม

‘อนุทิน’ นั่งหัวโต๊ะไฟเขียวร่างงบประมาณปี 67 กว่า 2.44 แสนล้านบาท ดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ หนุนแผนระบบขนส่งคมนาคม เร่งสรุปผลงบประมาณรายจ่าย ชงสำนักงบประมาณภายใน 27 ม.ค.นี้

24 ม.ค. 2566 – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 108 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 244,505.6705 ล้านบาท โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 7 กระทรวง 26 หน่วยงาน

ทั้งนี้แบ่งเป็น เป้าหมายที่ 1 จำนวน 11 หน่วยงาน สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.)กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.)กรมเจ้าท่า (จท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) (กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) (การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวม 88 โครงการ วงเงิน 243,660.1700 ล้านบาท คิดเป็น 99.65% มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M6 บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา M81 บางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1065 สาย อ.พรานกระต่าย-พิษณุโลก

โครงการพัฒนาทาง และสะพานโครงข่ายทางหลวงชนบท สนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 16 แห่ง โครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา โครงการออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น

สำหรับป้าหมายที่ 2 จำนวน 15 หน่วยงาน (จท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสภาพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์/กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ/กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน/สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ม.พะเยา ม.เชียงใหม่ ม.บูรพา และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวม 20 โครงการ วงเงิน 845.5005 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับงาน NSW

‘ศักดิ์สยาม’ หารือร่วม ‘JETRO - หอการค้าญี่ปุ่น’ ยัน!! ไทยมีแผนพัฒนา ศก. หลังโควิด-19 คลี่คลาย

‘ศักดิ์สยาม’ หารือร่วม ‘JETRO - หอการค้าญี่ปุ่น’ ถกแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย หวังการท่องเที่ยวปี 66 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมอัปเดตโปรเจกต์คมนาคม - ขับเคลื่อน EV - เปิดประเทศ

(26 ม.ค.66) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 นายคุโรดะ จุน (Mr.Kuroda Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และนายคาโต้ ทาเคโอะ (Mr.Kato Takeo) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) เข้าพบ เพื่อหารือแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย

ทั้งนี้ นายคุโรดะ จุน ได้รายงานในที่ประชุมถึงผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 (ก.ค.-ธ.ค. 2565) โดยแนวโน้มเศรษฐกิจจากทัศนะของผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังเป็นไปในทิศทางบวก และดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ ราคาต้นทุนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่สูงขึ้น รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับราคาสูงขึ้น และอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลง แต่ก็หวังว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2566

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้กล่าวขอบคุณข้อเสนอแนะ และยืนยันเป้าหมายของรัฐบาลไทย ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยกระทรวงคมนาคมยังคงดำเนินภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งสาธารณะ มุ่งเน้นการดำเนินการด้านความเป็นกลางด้านคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตของกิจกรรมทางธุรกิจ


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Eec Time Thailand
Take Me Top