Friday, 29 March 2024
TODAY SPECIAL

25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของสยามประเทศ

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเวชศาตรบัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร ณ ห้องประชุมตึกบัญญาชาการ (ตึก 1 ค ณะอักษรศาสตร์ปัจจุบัน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ห้องประชุม พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร-เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์แก่ข้าราชการของมหาวิทยาลัย 2 ท่าน คือ

1.) บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา(หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บัญชาการ (อธิการบดีในขณะนั้น)

2.) บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ น.พ. A.G.Ellis คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ต่อมาเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2478-2479)

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation : UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ จึงถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ 'ยูเอ็น' (United Nation : UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ นำโดยประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ลงนามให้สัตยาบันรับรอง 'กฎบัตรสหประชาชาติ' (United Nations Charter) ซึ่งเป็นธรรมนูญของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ 

ยูเอ็นเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพและความยุติธรรม มีความมั่นคงระหว่างประเทศ พัฒนาสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและประสานงานของชาติต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น 'วันสหประชาชาติ'

23 ตุลาคม วันปิยมหาราช

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น 'กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ' ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น 'กรมขุนพินิตประชานาถ' บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า 'พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว'

เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวรวิหาร

ก่อนที่จะถึงวันพระราชพิธีทรงผนวช ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชทานกระแสพระราชดำรัสในการที่จะทรงผนวชแก่พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราช ซึ่งเข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย แจ้งข้อพระราชดำริที่จะบรรพชาอุปสมบท และขอให้ทุกฝ่ายสมัครสมานกันรักษาประเทศ ทรงขอบใจรัฐบาลที่รับภาระเตรียมการบรรพชาอุปสมบท

ครั้นเสร็จพระราชพิธีภายใน พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยแล้ว จึงเสด็จฯ มายังพระที่นั่งสุทไธสวรรค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงได้มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทให้อาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน

อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจําชาติของเรา ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคําสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพรียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเสื่อมใสยิ่งนัก  ข้าพเจ้าเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่ารักได้อุปสมบทในพระศาสนาตาม ประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งมักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย 

และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์มาเป็นเวลาช้านานพอสมควรแล้ว น่าจะเป็นโอกาสที่จะทําตามความตั้งใจไว้นั้นได้แล้วประการหนึ่ง อนึ่ง การที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงมีพระคุณูปการในส่วนตัวข้าพเจ้าได้หายประชวรในครั้งหลังนี้ ก่อให้เกิดความปิติยินดีแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก มาคํานึงเห็นว่า ถ้าในการที่ข้าพเจ้าจะอุปสมบทนี้ ได้พระองค์ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการแสดงออกซึ่งความศรัทธา เคารพ ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมด้วยอีกประการหนึ่ง อาศัยเหตุเหล่านี้จึงได้ตกลงใจจะอุปสมบทในวันที่ 22 เดือนนี้

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ ของปวงชนชาวไทย

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นอีกหลายวันสำคัญของประเทศไทย พระราชกรณียกิจของ 'สมเด็จย่า' ที่ทรงมีต่อชาวไทยและประเทศชาตินั้น ใหญ่หลวงนัก ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะสูงในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ทรงอุทิศพระวรกายและสละเวลาให้แก่ประชาชน ตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากส่วนพระองค์

วันพยาบาลแห่งชาติ

เนื่องด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นำสิริสุขแก่ปวงชนทุกก้าวพระบาทที่เสด็จไปถึง สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตนว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าแก่สังคม ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวแล้วนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2533 เป็นต้นมา

20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารซ้ำ ล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยผู้ที่นำการรัฐประหาร คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

เหตุเนื่องจากการที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2519 เนื่องจากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจก็ว่าได้

โดยมีประกาศในการรัฐประหารไว้ดังนี้ การบริหารงานของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลในการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จังหวัดยะลา

19 ตุลาคม ‘วันเทคโนโลยีของไทย’ เทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย หลังทรงพระกรุณาบัญชาการปฏิบัติการทำฝนสาธิตด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515

นอกจากจะทรงเป็นนักปกครองแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้กำหนดให้ วันที่ 19 ตุลาคม เป็นวันเทคโนโลยีของไทย 

สาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม เป็นวันเทคโนโลยีของไทย เนื่องจาก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ด้วยพระปรีชาสามารถในการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผล ให้ตกในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศสิงคโปร์ที่กำลังประสบภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับสภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ขอส่งนักวิทยาศาสตร์มาสังเกตการณ์และขอรับถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญใน การปฏิบัติการทำฝนหวังผลในประเทศไทย 

ในการนี้ทรงพระกรุณารับบัญชาการปฏิบัติการสาธิตด้วยพระองค์เอง ทรงกำหนดให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิตครั้งนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยปฏิบัติการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผลที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติการฯสาธิต ในวันที่ 19ตุลาคม 2515 ณ ศูนย์บัญชาการฯ สันเขื่อนแก่งกระจาน ทรงสามารถบังคับหรือชักนำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างแม่นยำภายในเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงนับจากเริ่มปฏิบัติการ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาและเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ และข้าราชบริพารที่เป็นข้าราชการและข้าราชบริพารระดับสูงที่เฝ้าฯ สังเกตการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ต่างประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถ  

การสาธิตฝนครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนมาถึงปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543  คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น 'พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย' และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น 'วันเทคโนโลยีของไทย' เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย 

นอกจาก 'โครงการฝนหลวง' แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริ และที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ หลายด้าน ตัวอย่างเช่น 

กังหันน้ำชัยพัฒนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น  'เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย' หรือ 'กังหันชัยพัฒนา' เพื่อทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เป็นการลดมลภาวะทางน้ำถือได้ว่า เป็นประวัติศาสตร์ของการออกสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ของไทย


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Eec Time Thailand
Take Me Top